คณะแพทยศาสตร์ มช. พัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดผู้ป่วย ทดสอบแล้วผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดอาการปวด ระบุมีความละเอียด แม่นยำ และสามารถผ่าตัดได้ในที่แคบ…
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นพ.วัฒนา นาวาเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดโรคระบบต่างๆ ในมนุษย์ที่มีความซับซ้อน การนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดมาช่วยในการผ่าตัดบริเวณที่มีพื้นที่เล็ก และซับซ้อน ทำให้ผลความสำเร็จของการผ่าตัดมากขึ้น แม้เป็นการผ่าตัดในตำแหน่งที่มีความยุ่งยากซับซ้อน หุ่นยนต์ผ่าตัด หรือ Robotic Surgery นับเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ที่สามารถทำให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายระบบ ได้แก่ ศัลยกรรมระบบปัสสาวะ ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ แขนกล้องและแขนที่ทำงานคล้ายมือของคน ซึ่งจะช่วยทำให้การผ่าตัดมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งสามรถมองเห็นภาพความละเอียดสูงและมีกำลังขยาย 10 เท่า ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมาก และผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์ในการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดในที่แคบๆ และจะมีการเสียเลือดน้อยกว่า เนื่องจากมีความแม่นยำที่สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเจ็บและความบอบช้ำของแผลผ่าตัดน้อยกว่า
“ทางคณะ แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้นำเอาหุ่นยนต์ผ่าตัดมาช่วยในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยด้วย ซึ่งมีการเตรียมทีมโดยการนำทีมงานไปดูงานที่ฮ่องกง และการสัมมนาเรื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาผู้ ป่วย โดยผู้ป่วยรายแรกในภาคเหนือ ที่จะได้รับการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 61 ปี ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัด 4 ชั่วโมง ผลการผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อย ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ใช้ยาแก้ปวดจำนวนน้อย และใส่สายปัสสาวะเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถกลั้นปัสสาวะได้เอง นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่คณะแพทยศาสตร์ มช.นำมาใช้ เพื่อให้ลดการปวดจากการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย” นพ.วัฒนา กล่าว
ด้าน รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มช. เตรียมเปิดตัวเครื่อง PET-CT scan แห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย จะเป็นสถาบันแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย และเป็นแห่งเดียวในภาคเหนือ ที่จะได้จัดให้มีการเรียนการสอน การบริการตรวจเพ็ต-ซีทีสแกน (PET-CT scan) และการผลิตสารกัมมันตรังสีโพซิตรอน โดยจะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2555 และจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในปี พ.ศ. 2556
“เครื่องเพ็ต-ซีที ไซโคลตรอนทางการแพทย์ หรือ PET-CT scan เป็นเครื่องภาพถ่ายอณู หรือโมเลกุล (molecular imaging) ภายในเซลล์ ที่แสดงการทำงานของเซลล์และแสดงตำแหน่งที่อยู่ของเซลล์ในร่างกายอย่างชัดเจน โดยการใช้สารกัมมันตรังสีที่ให้รังสีโพซิตรอน (positron emission) ติดฉลากกับโมเลกุลของสารที่สามารถเข้า-ออกเซลล์ เป็นตัวส่งสัญญาณรังสีจากตำแหน่งความผิดปกติ หรือรอยโรคต่างๆ เข้าสู่ระบบถ่ายภาพเพ็ตสแกนไปพร้อมกับการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ ตำแหน่งรอยโรคเดียวกัน ทำให้ได้ภาพ 2 ชนิดที่สามารถซ้อนให้เป็นภาพเดียว (fusion image) กันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคซับซ้อนต่างๆ ที่เป็นปัญหาสุขภาพหลักของประเทศและทั่วโลก ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาท สำหรับโรคมะเร็งการตรวจเพ็ต-ซีทีสแกน สามารถกำหนดระยะของโรคได้ถูกต้องแม่นยำ แพทย์สามารถจัดแผนการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรค ทำให้ผลการรักษาโรคมะเร็งดีขึ้น และเป็นมาตรวัดผลการรักษาด้วยเคมีบำบัดแต่ละชนิดในผู้ป่วยแต่ละราย เพราะผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อเคมีบำบัดไม่เท่ากัน นอกจากนี้ การตรวจเพ็ต-ซีทีสแกนยังสามารถแยกการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งออกจากรอยแผลเป็น ที่เกิดจากการรักษาต่างๆ ได้” รศ.นพ.นิเวศน์ กล่าว.
ที่มา ไทยรัฐ 25 ธันวาคม 2554