บูทมหาวิทยาลัย

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

 

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
Thai-Nichi Institute of Technology

ประวัติความเป็นมา
สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ ส.ท.ญ. ก่อตั้งโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่บุคลากรไทย เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยมานานกว่า 34 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส.ส.ท. ได้ขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และสร้างชื่อเสียงในหลายด้าน อาทิ การจัดการอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การจัดสอนภาษาต่างประเทศ การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม การจัดพิมพ์หนังสือและวารสารทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการสมัยใหม่ และการให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงทำให้คณะกรรมการบริหาร ส.ส.ท. มีดำริที่จะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ที่สร้างบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทางขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของไทย ในปีพ.ศ.2548 ส.ส.ท. จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นในนาม “สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai-Nichi Institute of Technology” และเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2549 สถาบันฯ ได้รับอนุญาตการจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งใหม่ และจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ในหลักสูตรต่างๆ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่เน้นเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม สารสนเทศ และการจัดการที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย

จุดเด่นของหลักสูตรการเรียนการสอน
- ผลิตนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี
- ฝึกงานจริงในสถานประกอบการ โดยอาศัยความสัมพันธ์อันดีกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานญี่ปุ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- มีหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับผู้จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
- เน้นผลิตนักศึกษาที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

การฝึกงานและรับเข้าทำงาน
ทางสถาบันฯ จะประสานความร่วมมือกับองค์การชั้นนำของประเทศที่เป็นตลาดแรงงานในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานที่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนในสภาพการทำงานจริง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทักษะและประสบการณ์ทำงาน สร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในการทำงานจริง และ สร้างความเชื่อมั่นในตนเองก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังมีนโยบายที่จะผลักดันและขอรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากหน่วยงานและบริษัทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมไทยในลักษณะของการให้ทุนการศึกษาระยะยาว เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว จะสามารถเข้าทำงานในบริษัทที่ให้ทุนการศึกษาได้ในทันที นอกจากนี้สถาบันฯ ยังร่วมมือกับหน่วยงานและบริษัททางด้านอุตสาหกรรมได้เลือกนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและมีระดับผลการเรียนอยู่ในระดับดีเข้าทำงานด้วยเช่นกัน

เครือข่ายสถาบันฯและการประสานความร่วมมือ
เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในความเป็นเลิศทางวิชาการและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สถาบันฯ จึงขอรับการสนับสนุน และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ ซึ่งให้การสนับสนุนในด้านผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์พิเศษ สถานที่ศึกษาดูงาน การอบรมในหัวข้อพิเศษ การร่างหลักสูตร และ การจัดพิมพ์ตำราวิชาการ

สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถานประกอบการ และ หน่วยงานต่างๆ จากภาคอุตสาหกรรม เช่น สถานประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น ซึ่งสถาบันฯ จะประสานความร่วมมือในด้านการจัดหาสถานที่ศึกษาดูงานและรับนักศึกษาเข้าทำงาน การทำโครงการวิจัยร่วม รวมทั้งการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญพิเศษในสาขาต่างๆ

องค์กรภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้แก่ Japanese Chamber of Commerce (JCC), Japan External Trade Organization (JETRO), Japan-Thailand Economic Cooperation Society (JTECS) Ministry of Economy, Trade and Industry (METI), The Association for Overseas Technical Scholarship (AOTS), และ Japan International Cooperation Agency (JICA) ซึ่งสถาบันฯ จะประสานความร่วมมือในด้าน งบประมาณ วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ การร่างหลักสูตร ครุภัณฑ์การศึกษา ทุนการศึกษา ทุนการวิจัย สถานที่ฝึกงาน และ การรับนักศึกษาเข้าทำงาน

สถาบันอุดมศึกษาด้านเทคโนโลยีในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นความร่วมมือในด้านการให้ทุนการศึกษา การร่างหลักสูตร การวิจัยร่วม และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ระหว่างสถาบัน นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนเก่าและผู้เคยฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นแหล่งและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่สำคัญของสถาบันฯ และความร่วมมือจะเป็นไปในด้านการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และการพิจารณาร่างหลักสูตรใหม่ๆ.