“วรวัจน์” ย้ำ 7 หลักสูตรอาชีพไม่ซ้ำซ้อนอาชีพ ส่วนวิชาการยังเท่าเดิม แต่เน้นเรียนเพื่อมีงานทำมากขึ้น ย้ำมหาวิทยาลัยดูนโยบายให้ชัดเจน ขณะที่ “เบญจลักษณ์” ชี้ การปรับหลักสูตรไม่ใช่รื้อหลักสูตรพื้นฐาน แต่ปรับเนื้อหาสาระให้เกี่ยวข้องกับการมีงานทำและการเรียนมหา’ ลัย
วันนี้ (9 ม.ค.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาคัดค้านแนวคิดที่เสนอจัดสอบรับตรง 7 กลุ่มอาชีพ ตามหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการแทนการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพื่อใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยคาดว่า จะเริ่มใช้ในการรับตรงปีการศึกษา 2556 ว่า หลักสูตร 7 กลุ่มอาชีพ เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็ควรจะมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งแต่ละสถาบันควรดูนโยบายของ ศธ.ให้ชัดเจนว่า ตนอยากให้มหาวิทยาลัยมองภาพรวมทั้งหมด และทำความเข้าใจนโยบายของ ศธ.ให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่ ศธ.จะดำเนินการเป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งองค์กรหลักของ ศธ.ทุกองค์กรได้หารือร่วมกันแล้ว คือ การกำหนดทิศทางเพื่อให้คนจบออกมาแล้วมีงานทำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องทำอยู่แล้ว แต่ถ้ามีมหาวิทยาลัยไหนไม่อยากทำ เพราะถือว่ามีอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อ ศธ.ตนก็ไม่ว่าและจะไม่แตะต้องเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ระบุว่า หลักสูตร 7 อาชีพจะซ้ำซ้อน กับสายอาชีวศึกษา และทำให้เรื่องวิชาการด้อยลงนั้น ถือเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะหลักสูตร 7 กลุ่มอาชีพ ไม่ได้ลดเนื้อหาทางวิชาการลง แต่จะเพิ่มสาระการเรียนรู้ของแต่ละสาขาที่นักเรียนต้องการเรียนให้ชัดเจน ขึ้น ไม่ได้มีการปรับหลักสูตรหรือปรับการเรียนการสอน เพียงแต่ทำให้การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษากับอุดมศึกษามีความเชื่อมโยง กันทั้งระบบ ดังนั้น การสอบจึงควรมีเพียงรูปแบบเดียวเพื่อให้ง่ายขึ้น เด็กไม่สับสน ได้เรียนในคณะที่อยากเรียน ไม่ต้องหาวิ่งรอกสอบเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่มหาวิทยาลัยจะคัดเด็กได้ตรงตามต้องการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเรื่องนี้จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากไม่เร่งเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศ ต่อไปเมื่อเปิดเสรีในด้านต่างๆ ประเทศไทยจะเกิดความเสียหาย และสังคมจะตำหนิ ศธ.อย่างมาก
ด้าน นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังเร่งดำเนินการจัดทำหลักสูตร 7 กลุ่มอาชีพ ร่วมกับ สพฐ.ซึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว และคาดว่า จะเสร็จเร็วๆ นี้ คือ กลุ่มเกษตร และกลุ่มอาหาร อย่างไรก็ตาม หลักสูตร7 กลุ่มอาชีพเป็นการปรับเพิ่มเนื้อหาสาระในส่วนที่เน้นการเข้าเรียน มหาวิทยาลัย และการเข้าสู่อาชีพมากขึ้น ไม่ใช่การรื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น กลุ่มวิทยาศาสตร์ จะมีการแบ่งสายการเรียนการสอนที่ชัดเจนว่า จะเรียนวิทยาศาตร์เพื่อเป็นหมอ หรือจะเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อจะเป็นวิศวกร ทำให้นักเรียนไม่ต้องเรียนในวิชาที่ไม่จำเป็น
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์