สพฐ.เผย เอกชนลงขัน 600 เครื่อง นำร่อง 5 โรงเรียน 5 ภูมิภาค ระดับ ป.1/ป.4 ห้องเรียนละ 40-50 คน นายกฯ “ยิ่งลักษณ์” ชี้สื่อสมวัยเรียนรู้สร้างพื้นฐานคิดสร้างสรรค์ ย้ำเป็นสื่อเสริมหนังสือ พร้อมขยายครบทุกระดับชั้น เร็วๆ นี้
ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ กล่าว ตอนหนึ่งในพิธีเปิดโครงการนำร่องการประยุกต์ และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐบาล ระยะที่ 1 ว่า ที่ผ่านมาได้รับการสะท้อนแนวคิดมามากกว่า เด็กชั้น ป.1 จะมีความพร้อมในการใช้แท็บเล็ตหรือไม่ ดังนั้นจึงมอบให้ มศว ทำการศึกษาวิจัย เพื่อตอบทุกคำถามของสังคม ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เด็กไทย เพราะเชื่อว่าเด็กไทยมีความสามารถไม่น้อยกว่าชาติใด เพียงแต่ขาดโอกาสและการพัฒนาที่เหมาะสม อีกทั้งยังเชื่อว่าการที่เด็กไทยจะได้รับเครื่องมือที่ทันสมัย และเหมาะสมกับวัย จะส่งผลให้ในอนาคตเด็กไทยจะสามารถก้าวเป็นผู้นำของภูมิภาคและระดับโลกได้
“เท่าที่ดูในหลายประเทศ พบว่า เด็กป.1 ใช้แท็บเล็ตอย่างมีประสิทธิภาพ แต่คนที่มีอายุมากขึ้นต่างหากที่มีประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีด้อยลง และนอกจากในเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว ทักษะทางด้านภาษาก็จะมีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วยส่วนเรื่องหลักสูตรที่จะ บรรจุในแท็บเล็ตนั้น เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทันในปีการศึกษา 2555″นายวรวัจน์ กล่าว
ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า โครงการ นี้จะทดลองนำร่องตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ตั้งแต่เดือน ต.ค.54 ถึงเดือน ก.ย.55 จำนวน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) โรงเรียนราชวินิต กทม. โรงเรียนอนุบาลลำปาง จ.ลำปาง โรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น โรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา โดยทดลองกับนักเรียนชั้นป.1 และ ป.4 ชั้นเรียนละ 1 ห้อง ห้องละประมาณ 40-50 คน สำหรับแท็บเล็ตที่ใช้นำร่องนี้ ได้เปิดรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งมีหลายบริษัทแจ้งความจำนงเข้ามา แต่เนื่องจากการวิจัยนำร่องนี้ต้องการได้เครื่องที่มีคุณลักษณะเดียวกันทั้ง หมด จึงพิจารณาคัดเลือกบริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้บริจาคแท็บเล็ต 600 เครื่อง เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กพฐ. ยังกล่าวถึงการประชุมประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวง ซึ่งศธ.เป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งนายกฯ ได้เน้นย้ำเรื่องการจัดสรรแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1 ว่าเป็นช่วงวัยที่เหมาะเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีได้ดี และช่วยวางพื้นฐานการคิดสร้างสรรค์ แต่แท็บเล็ตก็ไม่สามารถนำมาทดแทนหนังสือเรียนได้ในทันที ควรใช้เป็นตัวเสริม ส่วนเนื้อหาที่บรรจุลงแท็บเล็ต ควรมีการพัฒนาให้ดี และควรเป็นการใช้งานที่สามารถปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ได้
อย่างไรก็ดี นายกฯ ยังเน้นย้ำว่าจะมีการขยายแท็บเล็ตไปทุกระดับชั้น ส่วนการจัดสรรจะเปิดโอกาสในหลายช่องทาง และควรให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร(ไอซีที) เข้ามาช่วยด้วย
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าว ว่า มศว ยินดีและมีความพร้อมที่จะศึกษาผลกระทบการใช้แท็บเล็ตในเด็กนักเรียน โดยจะสรุปผลจากโรงเรียนนำร่องทั้งหมดว่าใช้แท็บเล็ตแล้วเป็นอย่างไร และรวบรวมเป็นแนวทางจัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องว่าจะใช้อย่างไร รวมถึงจัดทำต้นแบบการบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและแนวทางการบริหาร จัดการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต
ทั้ง นี้ ยืนยันว่าหลักสำคัญการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้จะต้องควบคู่กับการพัฒนา เนื้อหาที่เหมาะสม เนื่องจากแท็บเล็ตเป็นเพียงตัวช่วยในการเรียนรู้ ไม่มีเจตนาใช้แทนครู และไม่สามารถแทนไม่ได้ ครูยังมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดจินตนาการความรู้ คุณธรรมและความดีให้กับเด็ก เพียงแต่แท็บเล็ตจะช่วยให้สามารถทำงานต่างๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้สำหรับเด็กแล้วแท็บเล็ตเปรียบเหมือนเครื่องมือเสริมประสบการณ์ และจะไม่ใช้ตลอดทั้งวัน เช้า-เย็น ให้ใช้เพียงช่วงเวลาเหมาะสมเท่านั้น
ที่มา สยามรัฐ 22 ธ.ค. 54